วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

วุฒิสภาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

วุฒิสภาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
(Le Sénat de la République française)

สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุข อำนาจนิติบัญญัติมีลักษณะใกล้เคียงกันกับบ้านเรา กล่าวคือ เป็นระบบ 2 สภา โดยรัฐสภาฝรั่งเศสเรียกว่า เลอ ปาร์เลอม็อง (le Parlement) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (l’Assemblée nationale) และวุฒิสภา (le Sénat)
เช่นเดียวกันกับรัฐสภาของไทย รัฐสภาฝรั่งเศสเป็นองค์กรหลักซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย รวมไปถึงการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายรัฐบาล แต่ในรายละเอียดแล้วยังคงมีบางแง่มุมที่มีลักษณะแตกต่างกัน โดยในโอกาสนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของวุฒิสภา

1. การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
วุฒิสภาไทยประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ในส่วนของประเทศฝรั่งเศส สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยอ้อม กล่าวคือ ชาวฝรั่งเศสที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกผู้แทนในระดับท้องถิ่นที่เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้ง” (un collège électoral) ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาภาค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสิ้นประมาณ 150,000 คน จากนั้นคณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกวุฒิสภา
ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกสภาภาค

สมาชิกสภาจังหวัด

สมาชิกสภาเทศบาล

ในประเทศไทย การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด แต่ในประเทศฝรั่งเศส ระบบการเลือกตั้งที่คณะผู้เลือกตั้งใช้ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภามี 2 แบบ กล่าวคือ ในเขตเลือกตั้งที่สามารถเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้ 1-3 คนจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบยึดคะแนนเสียงข้างมากสองรอบ (le scrutin majoritaire à deux tours) ในรอบแรก ผู้ชนะการเลือกตั้งคือผู้ที่ได้คะแนนเสียงข้างมากเกินครึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมดและคะแนนเสียงที่ได้รับจะต้องมีจำนวน 1/4 ของผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากไม่มีผู้สมัครคนใดชนะการเลือกตั้งในรอบแรก ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบสอง โดยผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในรอบนี้ คือผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด ปัจจุบันมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 187 คนที่มาจากการเลือกตั้งแบบยึดคะแนนเสียงข้างมากสองรอบ
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นตัวแทนชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มี สมาชิกวุฒิสภาได้ 4 คนหรือมากกว่านั้นจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (la représentation proportionnelle) กล่าวคือ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อที่กำหนดไว้ บัญชีรายชื่อใดได้คะแนนมาก ก็จะมีสิทธิได้ที่นั่งมาก ส่วนบัญชีรายชื่อใดได้คะแนนน้อย ก็จะมีสิทธิได้ที่นั่งน้อยตามสัดส่วน ปัจจุบันมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้จำนวน 144คน
วุฒิสภาไทยประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ส่วนวุฒิสภาฝรั่งเศสประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 331 คน (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ วันที่ 26 กันยายน 2004) และเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรและหน่วยการปกครองต่างๆ กฎหมายฉบับที่ 2003 - 696 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2003 กำหนดให้มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกวุฒิสภาโดยในปี 2007 จำนวนสมาชิกวุฒิสภาจะเพิ่มขึ้นเป็น 341 คนและในปี 2010 จะเพิ่มขึ้นเป็น 346 คน

2. วาระในการดำรงตำแหน่ง
สมาชิกวุฒิสภาไทยมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปีและเมื่อครบกำหนดก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่หมดทั้งคณะ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ ในขณะที่สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสนั้นมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 9 ปี โดยมีการเลือกตั้ง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดใหม่ทุกๆ 3 ปีตามชุดของ สมาชิกวุฒิสภาที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ ชุด A ชุด B และชุด C และ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์
แต่จากการปฏิรูปในปี 2003 กฎหมายฉบับที่ 2003 - 696 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2003 ระบุให้สมาชิกวุฒิสภามีวาระในการดำรงตำแหน่งลดลงเป็น 6 ปี โดยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดใหม่ทุก ๆ 3 ปีตามชุดของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ ชุด 1 และชุด 2 และผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์

3. อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา
ด้านนิติบัญญัติ
วุฒิสภาไทยมีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายเช่นเดียวกันกับวุฒิสภาฝรั่งเศสแต่จะแตกต่างกันตรงที่วุฒิสภาไทยเราไม่มีอำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้ การเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน
ในขณะที่สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายและร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี โดยการตรากฎหมายดังกล่าวต้องไม่เพิ่มรายจ่ายของรัฐหรือทำให้รายได้ของรัฐลดลงและต้องไม่แทรกแซงอำนาจในการตรากฎหมายของรัฐบาลหรืออำนาจซึ่งรัฐบาลได้รับการอนุญาตจากรัฐสภาให้เป็นผู้ตรารัฐกำหนด (une ordonnance)
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภาไทยแบ่งออกเป็น 3 วาระ ซึ่งหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบในวาระที่สามแล้วจะถือว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย ร่างพระราชบัญญัตินั้นต้องถูกยับยั้งไว้ และหากวุฒิสภามีมติแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก็ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับ ความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ถ้าเป็นกรณีอื่น แต่ละสภาจะตั้งบุคคลที่เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกแห่งสภานั้นๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด ประกอบเป็น “คณะกรรมาธิการร่วมกัน” เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัตินั้นอีกครั้ง เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งร่างพระราชบัญญัติไปยังแต่ละสภา เพื่อพิจารณา หากทั้งสองสภาเห็นชอบก็ถือว่าร่างพระราชบัญญัติได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่หากสภาใดสภาหนึ่งไม่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินั้นจะถูกยับยั้งไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่างพระราชบัญญัตินั้นด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งจะถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ในประเทศฝรั่งเศส ร่างกฎหมายก็ต้องผ่านการพิจารณาจากทั้งสองสภาเพื่อให้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเดียวกัน หากทั้ง 2 สภามีความเห็นตรงกันก็ถือว่าร่างกฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีที่ทั้ง 2 สภามีความเห็นไม่ตรงกัน ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็จะถูกส่งกลับไปกลับมาระหว่าง 2 สภา (la navette) ซึ่ง นายกรัฐมนตรีสามารถขอให้มีการตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วมกัน” (une commission mixte paritaire) ประกอบด้วยสมาชิกที่มีลักษณะแตกต่างกับของไทย กล่าวคือ คณะกรรมาธิการร่วมกันของฝรั่งเศสประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 7 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7 คน ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่หากคณะกรรมาธิการร่วมกันไม่สามารถตกลงกันได้อีก ร่างกฎหมายนั้นจะถูกส่งไปให้ทั้งสองสภาพิจารณาอีกครั้ง และหลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ในกรณีดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรอาจนำร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกันหรือร่างที่ผ่านการพิจารณาครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอาจมีการแปรญัตติโดยความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว มาเป็นร่างที่ใช้ในการพิจารณาก็ได้
ร่างกฎหมายที่เข้าสู่วุฒิสภาจะถูกส่งไปพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการสามัญก่อนซึ่งในปัจจุบัน วุฒิสภาไทยประกอบด้วยคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 22 คณะและหากมีความจำเป็น วุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อใดก็ได้ แต่ในวุฒิสภาฝรั่งเศสมีคณะกรรมาธิการเพียง 6 คณะ ในอดีต ประเทศฝรั่งเศสประกอบด้วยคณะกรรมาธิการหลายคณะซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติงานของรัฐบาลต้องหยุดชะงัก เนื่องจากแต่ละคณะใช้อำนาจในการควบคุมการทำงานของรัฐบาลมากเกินขอบเขต ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ปี คศ. 1958 มาตรา 43 จึงกำหนดให้วุฒิสภา (รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร) ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการสามัญซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 6 คณะและตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาฝรั่งเศส คณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภาประกอบด้วย
1. คณะกรรมาธิการกิจการวัฒนธรรม
2. คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจและการวางแผน
3. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ
4. คณะกรรมาธิการกิจการสังคม
5. คณะกรรมาธิการการคลัง การควบคุมงบประมาณและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ
6. คณะกรรมาธิการฝ่ายกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมาย การเลือกตั้งทั่วไป ข้อบังคับและการบริหารงานทั่วไป
ในประเทศฝรั่งเศส การพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละครั้ง คณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบจะแต่งตั้งสมาชิกคนหนึ่งเพื่อเป็น “ผู้นำเสนอรายงาน” มีหน้าที่จัดเตรียมและนำเสนอข้อสังเกตในร่างกฎหมายต่อคณะกรรมาธิการในรูปของรายงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาร่างกฎหมายนั้น ๆ ในที่ประชุมแห่งสภา โดยปกติแล้วรัฐบาลจะไม่เข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมาธิการหากคณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี แต่หากรัฐมนตรีต้องการเข้าร่วมก็สามารถทำได้ แต่ในขณะที่คณะกรรมาธิการมีการลงมติ รัฐมนตรีท่านนั้นต้องออกจากที่ประชุม คณะกรรมาธิการจะไม่มีการลงมติรับหรือไม่รับร่างกฎหมายแต่จะนำข้อสรุปพร้อมประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้จากการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการเสนอต่อที่ประชุมแห่งสภา โดยมี “ผู้นำเสนอรายงาน” ทำหน้าที่ชี้แจงพร้อมให้เหตุผลและยืนยันผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ
ด้านการควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร
1. สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการตั้งกระทู้ถามต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งคณะรัฐมนตรีจะต้องตอบข้อซักถามของสมาชิกวุฒิสภาเกี่ยวกับงานในหน้าที่ในฐานะผู้รับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาไทย กระทู้ถามแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กระทู้ถามที่ตอบใน ราชกิจจานุเบกษาและกระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุมวุฒิสภา ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศส กระทู้ถามจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- กระทู้ถามแบบลายลักษณ์อักษร (les questions écrites) รัฐมนตรีที่ถูกถามจะตอบคำถามลงในรัฐกิจจานุเบกษาซึ่งเรียกว่า “Le Journal Officiel”
- กระทู้ถามด้วยวาจา (les questions orales) รัฐมนตรีที่ถูกถามจะตอบคำถามใน ที่ประชุมสภาและสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นผู้ตั้งกระทู้ถามมีสิทธิพูดโต้ตอบได้หรืออาจเป็นการตั้งกระทู้ถามที่สมาชิกวุฒิสภาคนอื่นสามารถลงชื่อร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ถามได้
- กระทู้ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน (les questions d’actualités) ใน 1 เดือน วุฒิสภาสามารถตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศฝรั่งเศส และต่างประเทศได้ 2 ครั้งโดยจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีและจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง France 3 และ Public Sénat
การตั้งกระทู้ถามต่อคณะรัฐบาลถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของสมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสโดยในแต่ละปีมีกระทู้นับพันที่ถูกเสนอต่อรัฐบาล
2. ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ในประเทศฝรั่งเศส การแถลงนโยบายของรัฐบาล (les déclarations du gouvernement) กระทำโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งจะแถลงนโยบายทางการเมืองทั่วไปและคณะรัฐมนตรีซึ่งจะแถลงนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของตนเอง โดยนายกรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติต่อคำแถลงนโยบาย นั้นได้ แต่ผลการลงมติจะไม่กระทบกระเทือนต่อสถานะของรัฐบาล (ตรงข้ามกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถ้ามีมติไม่เห็นชอบกับนโยบายทางการเมืองทั่วไปของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีต้องยื่นใบลาออกของคณะรัฐมนตรีต่อประธานาธิบดี)
3. วุฒิสภาไทยสามารถจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อกระทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาได้ วุฒิสภาฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน คณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 6 คณะของวุฒิสภาฝรั่งเศสนอกจากจะปฏิบัติงานด้านการพิจารณาร่างกฎหมายแล้ว ยังมีหน้าที่ศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมาธิการการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินของกระทรวงต่างๆ นอกจากนั้น ในประเทศฝรั่งเศส วุฒิสภายังสามารถจัดตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวน (les commissions d’enquête) ทำหน้าที่เก็บรวบรวมและสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารงานในองค์กรภาครัฐต่าง ๆ โดยสามารถเรียกบุคคลมาให้ข้อมูลได้ ซึ่งถ้าหากบุคคลนั้นไม่มาตามคำขอ ก็จะมีโทษทางกฎหมาย คณะกรรมาธิการสอบสวนมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานเพียง 6 เดือนเท่านั้น
นอกจากอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายและการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว วุฒิสภาไทยยังมีหน้าที่ในการพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรสำคัญตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอำนาจใน การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงออกจากตำแหน่งหรือให้พ้นจากตำแหน่งด้วย ซึ่งในประเทศฝรั่งเศส วุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาฝรั่งเศสมีอำนาจอย่างหนึ่งซึ่งวุฒิสภาไทยไม่สามารถกระทำได้ นั่นก็คือ อำนาจในการเสนอร่างกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
ดังจะเห็นว่า วุฒิสภาฝรั่งเศสมีลักษณะบางประการที่คล้ายและแตกต่างกับวุฒิสภาไทย ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็มีรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ในประเทศของตน แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ใด วุฒิสภาก็เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่ประกอบด้วยคณะบุคคลซึ่งประชาชนได้เลือกตั้งให้เป็นตัวแทนในการทำงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างดีที่สุดนั่นเอง


ที่มา -
www.senat.fr
- Constitution de la République française du 4 octobre 1958
- Recueil : fiches techniques sur le statut, les fonctions, les procédures et
l’organisation du Sénat, Paris, Service des relations internationales, 2004.
- สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, บทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา,
กรุงเทพฯ, กลุ่มงานการพิมพ์ สำนักการคลังและงบประมาณ, 2546

ไม่มีความคิดเห็น: