วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความเหงาทำให้เป็นมะเร็งง่ายขึ้น และร้ายแรงขึ้น


ผลการวิจัยใหม่ในสหรัฐเพิ่มน้ำหนักต่อข้อสันนิษฐานที่ว่าความเหงาทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งมากขึ้น และทำให้มะเร็งที่เป็นอยู่แล้วลุกลามมากยิ่งขึ้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกศึกษากับหนูพบว่า หนูที่ถูกขังเดี่ยวเป็นมะเร็งมากกว่าหนูที่อยู่เป็นกลุ่ม และเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงกว่า โดยระบุว่า สาเหตุเกิดจากความเครียด และน่าจะเกิดผลเช่นเดียวกันกับมนุษย์
วงการแพทย์ทราบอยู่แล้วว่าผู้ป่วยมะเร็งที่หดหู่ซึมเศร้ามักมีอัตรารอดชีวิตน้อยลง และเคยมีงานวิจัยพบว่ากำลังใจช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีสุขภาพดีขึ้น งานวิจัยล่าสุดพบว่า ความโดดเดี่ยวและความเครียดทำให้หนูนอร์เวย์ที่ชอบอยู่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า หนูที่ถูกแยกขังมีจำนวนเนื้องอก 84 เท่าของหนูที่อยู่เป็นกลุ่มอย่างเหนียวแน่น และเป็นเนื้องอกที่เสี่ยงลุกลาม นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนความเครียดสูงกว่าและใช้เวลานานกว่าในการปรับตัวจากภาวะความเครียด นักวิจัยระบุว่า จะต้องนำผลการศึกษานี้ไปหาหนทางที่อาจจะลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งลงได้
ด้านมูลนิธิวิจัยมะเร็งอังกฤษเห็นว่า ผลการศึกษานี้ได้จากหนูทดลอง แต่การศึกษากับมนุษย์โดยทั่วไปไม่พบว่าความเครียดมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ มะเร็งเต้านม แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ความเครียดอาจมีผลทางอ้อมด้วยการทำให้คนใช้ชีวิตไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น รับประทานมากเกินไป ดื่มสุราหนัก สูบบุหรี่

เทคนิค เลคเชอร์


เทคนิค เลคเชอร์

"เลคเชอร์" กับ "การเรียน" ถือเป็นของคู่กัน หากฟังอย่างเดียวแต่ไม่จด ผลคือ น้อยมากที่จะจำเนื้อหาได้หมด และอาจตกหล่นประเด็นสำคัญไป ดังนั้น การจดบันทึกจึงสำคัญ และเป็นประโยชน์เพื่อใช้ทบทวนภายหลัง สำหรับน้องใหม่ที่กำลังปรับตัวเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย 'Edutainment Zone' มีเทคนิคจดเลคเชอร์มาบอกกัน เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น 'สมุด' ควรใช้ 1 เล่ม ต่อ 1 วิชา เพื่อแยกเป็นสัดส่วน ป้องกันการสับสน 'ปากกา' อาจใช้หลายสี ไว้จดแยกสาระสำคัญของประเด็นต่างๆ ไม่ควรจดทุกคำพูด แต่ควรฟังให้เข้าใจก่อน จากนั้นจับใจความสำคัญแล้วค่อยบันทึกเป็นความเข้าใจของตัวเอง มีข้อสังเกต! ว่า การจดเกือบทุกคำพูดของอาจารย์ เมื่อกลับมาทบทวน หลายคนจะไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ทำความเข้าใจตามไปด้วย มุ่งอยู่กับการเขียนอย่างเดียว ทำให้ไม่รู้ที่มาที่ไป ใช้คำย่อ-สัญลักษณ์เข้าช่วย ทำให้จดเร็วขึ้น อาจกำหนดตัวอักษรขึ้นเอง (แต่คนจดต้องเข้าใจด้วยว่า หมายถึงอะไร) ส่วนใหญ่นิยมใช้จากคำขึ้นต้นของคำนั้นๆ รวมทั้งอักษรย่อที่เป็นมาตรฐาน หากจดสาระสำคัญไม่ทัน ควรทำเครื่องหมายไว้ และบันทึกตามในประเด็นที่อาจารย์กำลังอธิบาย แล้วค่อยถามทีหลัง หากมัวพะวงจะทำให้จดไม่ทันทั้งหมด ถามอาจารย์เมื่อไม่เข้าใจ อย่าปล่อยให้ผ่านไป เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่มักบูรณาการเกี่ยวเนื่องกันหมด หากไม่เข้าใจจุดหนึ่งจะทำให้งงกับส่วนอื่นตามไปด้วย และเมื่อได้คำอธิบายแล้ว อย่าลืมหมายเหตุไว้ เวลาทบทวนจะได้เน้นย้ำเป็นพิเศษ ที่สำคัญ! เลคเชอร์แล้ว ต้องกลับไปทำความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความฟิตสำหรับการสอบเทอมนี้กัน